ประเพณีสิบสองมนล่องผ่องไต

ประเพณีสิบสองมนล่องผ่องไต จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ประเพณีลอยกระทงไทยใหญ่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไตซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีคติความเชื่อว่าเป็นการจัดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา และบูชาพระอุปคุต 8 องค์

ล่องผ่อง

 

ประเพณีลอยกระทงไทยใหญ่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไตซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีคติความเชื่อว่าเป็นการจัดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา และบูชาพระอุปคุต 8 องค์ หรือพระอรหันต์ตามความเชื่อของชาวไตโบราณ ซึ่งเชื่อว่าพระอรหันต์ทั้ง 8 องค์นี้ มี 4 องค์ที่มรณภาพแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 4 องค์ยังคงปฏิบัติธรรมอยู่ในกลางมหานพ และทุกวันเพ็ญเดือน 12 พระอรหันต์ทั้ง 4 จะเวียนขึ้นมาโปรดสัตว์และเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยชาวไตจะถวายอัฐบริขารต่างๆอันเป็นประเพณีสืบต่อจากประเพณีจองพาราซึ่งทำ ถวายพระพุทธเจ้า โดยจะบูชาพระอุปคุตและลอยสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆลงในลำน้ำเพื่อเป็นการให้ ทานและถวายเป็นพุทธบูชา

จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสอง โดยชาวบ้านจะจัดทำกระทงเล็กๆ ไปลอยตามแม่น้ำ มีการประกวดกระทงใหญ่ที่หนองจองคำ ซึ่งเป็นหนองน้ำสาธารณะกลางเมือง มีการแสดงมหรสพรื่นเริง ตามบ้านเรือนจะมีการจุดประทีปโคมไฟสว่างไสว นอกจากนี้ยังมีการลอยกระทงสวรรค์ โดยนำกระทงที่จุดประทีปโคมไฟแล้วผูกติดกับลูกโป่งลอยขึ้นไปในอากาศ พิธีนี้จัดขึ้นที่วัดพระธาตุดอยกองมู

นอกจากนี้ ยังมีศิลปะที่น่าสนใจของชาวไตคือศิลปะการแสดงและดนตรีซึ่งแตกต่างจากของล้านนา และมักจะนำเข้ามาร่วมในงานบุญงานแห่ต่างๆ อยู่เสมอ อาทิ “ฟ้อนกิงกะหล่า” หรือฟ้อนกินรี ซึ่งได้รับความนิยมที่สุด ผู้แสดงจะใส่ปีกใส่หางบินร่ายรำ นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนตัวสัตว์ต่างๆ ที่มีความเชื่อว่าอาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์ เช่น ฟ้อนนก ฟ้อนผีเสื้อ ฟ้อนม้า เป็นต้น

“ฟ้อนโต” เป็นการแสดงที่นิยมกันอีกชุดหนึ่ง ตัวโตนั้นเชื่อกันว่าเป็นสัตว์ป่าในหิมพานต์ชนิดหนึ่ง มีเขาคล้ายกวางและมีขนยาวคล้ายจามรี มีลักษณะร่ายรำคล้ายการเชิดสิงโตของจีน

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงอื่นๆ อีกหลายชุด ได้แก่ “ฟ้อนดาบ” หรือที่เรียกว่า ฟ้อนก้าแลว “ฟ้อนไต” เป็นการฟ้อนต้อนรับผู้มาเยือน รำหม่อง “ส่วยยี” เป็นการรำออกท่าทางคล้ายพม่า และ “มองเซิง” เป็นการรำประกอบเสียงกลองมองเซิง

Leave a comment